ออกแบบโลโก้ตามแบรนด์ ไอเดนติตี้ (Brand Identity) VS ออกแบบโลโก้หมอดูท่านว่า : ใครจะอยู่ ใครจะไป
พูดถึงหัวข้อ แบรนด์ ไอเดนติตี้ นี้ขึ้นมา เรามั่นใจว่าต้องมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอยู่มากพอสมควร ไม่ใช่แค่สายงานมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น แต่เหล่านักออกแบบ กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ นักออกแบบภายใน และอีกหลายสาขาอาชีพต้องเคยเจอ
“คิดไอเดนติตี้กันแทบตาย สุดท้ายแพ้หมอดู”
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทีมเราก็เจอกันค่อนข้างบ่อย ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันนิดนึง บริษัทเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เน้นความเป็น Minimal แต่แผงความชิคไว้เล็กน้อย คือหลังจากทำ Brainstorming session กันเสร็จเรียบร้อยทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าแบรนด์นี้นั้นต้องเรียบหรูดูแพง แต่ก่อนที่เราจะเข้ามามีส่วนร่วม ลูกค้าก็ได้มีการขึ้น draft โลโก้ไปแล้วด้วย งั้นขอดูกันหน่อย กางโลโก้ ตึ้ง!!! เอิ่ม… เห็นโลโก้แล้วได้แต่กรีดร้องในใจ โอ้ โอ้ โอ้ ไหนว่าจะเรียบหรูดูแพง แล้วเราก็ได้ความมาว่า โลโก้อันนี้ผ่านการเห็นชอบเพราะดูตามหลักฮวงจุ้ยมาแล้ว อันนี้แหละ เวิร์ค!
เจอแบบนี้เราจะทำยังไงกันดี จำเป็นไหมที่ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มหายตายจากกันไปเพื่อให้อีกฝ่ายยังอยู่ได้ หรือเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบลงตัว กลมกลืนไปด้วยกันได้
เราที่กำลังอ่านอยู่ก็คงรู้และเข้าใจการออกแบบโลโก้ตาม Brand Identity กันมาบ้างแล้ว งั้นเราลองไปดูทางฝั่งฮวงจุ้ยบ้างดีกว่า พูดแบบสั้นๆ ก็คือทาฝั่งฮวงจุ้ยนั้น การออกแบบโลโก้ควรจะประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง ดิน ไม้ ไฟ น้ำ ทอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงความสำเร็จความเจริญก้าวหน้า ซึ่งบางอย่างมันก็พอจะเข้าหลักเข้าการได้อยู่เหมือนกัน เช่น กรณีนี้ต้องมีธาตุไม้ ต้องใช้สีเขียว โลโก้เลยต้องมีธาตุไม้ อาฮะ มันก็ละม้ายคล้ายคลึงพอจะอยู่ด้วยกันได้เหมือนกัน
แล้วเคสออกแบบโลโก้ตามแบรนด์ ไอเดนติตี้ (Brand Identity) VS ออกแบบโลโก้ตามฮวงจุ้ยนี้ เราแก้ปัญหานี้กันยังไง? แพม พลัส พลัส เราก็เริ่มจากการถามว่า
- มันยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม? หรือว่าไม่ว่ายังไงก็ต้องใช้โลโก้นี้?
- โชคดีที่ยังปรับเปลี่ยนได้ เราเลยขอดูการออกแบบโลโก้ทั้งหมดที่เคย draft มา แล้วดูว่า draft ไหนดูจะเข้ากันกับ Brand Identity มากที่สุด
- คุยกันกับดีไซน์เนอร์ว่าในความเห็นเรามันควรจะปรับอะไรบ้าง เช่น สีเขียวของธาตุไม้ มีไว้ก็พอได้ แต่เขียวแบบไหนที่ดูดี ดูทันสมัยและวางอย่างไรให้ Minimal
- ท้ายสุดถ้าไม่ยอมเปลี่ยน ก็บอกไปตรงๆ ค่ะ จะใช้อันนี้จริงๆ ก็ได้นะคะ แต่อยากให้ปรับจริงๆ ค่ะ ไม่อย่างนั้นมุมมองของคนภาพนอกที่มีต่อสินค้าทั้งในเรื่องของ brand positioning, ระดับราคาของสินค้า, ภาพลักษณ์ที่พยายามจะสร้างและสื่อให้คนภาพนอกรับรู้และเข้าใจในตัวสินค้าก็จะสูญเปล่า เพราะคนภาพนอกจะมองโลโก้และเข้าใจสินค้าเอาจากโลโก้ที่เลือกมานี่แหละค่ะ
ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นนักการตลาดต้องรู้จักปรับเปลี่ยนความเข้าใจของลูกค้าให้เข้ากันกับสิ่งที่สินค้าพยายามจะเป็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเองก็ควรจะหาทางออกให้ความเชื่อของลูกค้า หลอมรวมไปกับสิ่งที่ควรจะเป็นไปได้อย่างดี
แล้วคุณๆ ล่ะ มีใครเคยเจอเหตุการณ์นี้ แล้วจัดการกันอย่างไรบ้าง มาแลกเปลี่ยนกัน