Logo ตาม แบรนด์ ไอเดนติตี้ VS logo หมอดูปลื้ม

logo branding vs fungshui

ออกแบบโลโก้ตามแบรนด์ ไอเดนติตี้ (Brand Identity) VS ออกแบบโลโก้หมอดูท่านว่า :  ใครจะอยู่ ใครจะไป

พูดถึงหัวข้อ แบรนด์ ไอเดนติตี้ นี้ขึ้นมา เรามั่นใจว่าต้องมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอยู่มากพอสมควร ไม่ใช่แค่สายงานมาร์เก็ตติ้งเท่านั้น แต่เหล่านักออกแบบ กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ นักออกแบบภายใน และอีกหลายสาขาอาชีพต้องเคยเจอ

“คิดไอเดนติตี้กันแทบตาย สุดท้ายแพ้หมอดู”

เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ทีมเราก็เจอกันค่อนข้างบ่อย ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันนิดนึง บริษัทเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เน้นความเป็น Minimal แต่แผงความชิคไว้เล็กน้อย คือหลังจากทำ Brainstorming session กันเสร็จเรียบร้อยทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าแบรนด์นี้นั้นต้องเรียบหรูดูแพง แต่ก่อนที่เราจะเข้ามามีส่วนร่วม ลูกค้าก็ได้มีการขึ้น draft โลโก้ไปแล้วด้วย งั้นขอดูกันหน่อย กางโลโก้ ตึ้ง!!! เอิ่ม… เห็นโลโก้แล้วได้แต่กรีดร้องในใจ โอ้ โอ้ โอ้ ไหนว่าจะเรียบหรูดูแพง แล้วเราก็ได้ความมาว่า โลโก้อันนี้ผ่านการเห็นชอบเพราะดูตามหลักฮวงจุ้ยมาแล้ว อันนี้แหละ เวิร์ค!

เจอแบบนี้เราจะทำยังไงกันดี จำเป็นไหมที่ต้องให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งล้มหายตายจากกันไปเพื่อให้อีกฝ่ายยังอยู่ได้ หรือเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้แบบลงตัว กลมกลืนไปด้วยกันได้

เราที่กำลังอ่านอยู่ก็คงรู้และเข้าใจการออกแบบโลโก้ตาม Brand Identity กันมาบ้างแล้ว งั้นเราลองไปดูทางฝั่งฮวงจุ้ยบ้างดีกว่า พูดแบบสั้นๆ ก็คือทาฝั่งฮวงจุ้ยนั้น การออกแบบโลโก้ควรจะประกอบด้วยธาตุทั้ง 5 ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง ดิน ไม้ ไฟ น้ำ ทอง เพื่อให้เกิดความมั่นคงความสำเร็จความเจริญก้าวหน้า ซึ่งบางอย่างมันก็พอจะเข้าหลักเข้าการได้อยู่เหมือนกัน เช่น กรณีนี้ต้องมีธาตุไม้ ต้องใช้สีเขียว โลโก้เลยต้องมีธาตุไม้ อาฮะ มันก็ละม้ายคล้ายคลึงพอจะอยู่ด้วยกันได้เหมือนกัน

แล้วเคสออกแบบโลโก้ตามแบรนด์ ไอเดนติตี้ (Brand Identity) VS ออกแบบโลโก้ตามฮวงจุ้ยนี้ เราแก้ปัญหานี้กันยังไง? แพม พลัส พลัส เราก็เริ่มจากการถามว่า

  1. มันยังสามารถปรับเปลี่ยนได้ไหม? หรือว่าไม่ว่ายังไงก็ต้องใช้โลโก้นี้?
  2. โชคดีที่ยังปรับเปลี่ยนได้ เราเลยขอดูการออกแบบโลโก้ทั้งหมดที่เคย draft มา แล้วดูว่า draft ไหนดูจะเข้ากันกับ Brand Identity มากที่สุด
  3. คุยกันกับดีไซน์เนอร์ว่าในความเห็นเรามันควรจะปรับอะไรบ้าง เช่น สีเขียวของธาตุไม้ มีไว้ก็พอได้ แต่เขียวแบบไหนที่ดูดี ดูทันสมัยและวางอย่างไรให้ Minimal
  4. ท้ายสุดถ้าไม่ยอมเปลี่ยน ก็บอกไปตรงๆ ค่ะ จะใช้อันนี้จริงๆ ก็ได้นะคะ แต่อยากให้ปรับจริงๆ ค่ะ ไม่อย่างนั้นมุมมองของคนภาพนอกที่มีต่อสินค้าทั้งในเรื่องของ brand positioning, ระดับราคาของสินค้า, ภาพลักษณ์ที่พยายามจะสร้างและสื่อให้คนภาพนอกรับรู้และเข้าใจในตัวสินค้าก็จะสูญเปล่า เพราะคนภาพนอกจะมองโลโก้และเข้าใจสินค้าเอาจากโลโก้ที่เลือกมานี่แหละค่ะ

ฉะนั้นในฐานะที่เราเป็นนักการตลาดต้องรู้จักปรับเปลี่ยนความเข้าใจของลูกค้าให้เข้ากันกับสิ่งที่สินค้าพยายามจะเป็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราเองก็ควรจะหาทางออกให้ความเชื่อของลูกค้า หลอมรวมไปกับสิ่งที่ควรจะเป็นไปได้อย่างดี

แล้วคุณๆ ล่ะ มีใครเคยเจอเหตุการณ์นี้ แล้วจัดการกันอย่างไรบ้าง มาแลกเปลี่ยนกัน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *